Travel Soft Power & Sport
วว.ยกระดับการท่องเที่ยวชายหาด11แห่ง อย่างยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับสากล

กรุงเทพฯ-“การท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด” เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก
จากการที่การท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาดของประเทศไทยมีความหลากหลายและความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่โดยมีความน่าสนใจทั้งทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ รูปแบบการจัดกิจกรรมตามแนวชายหาด และแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงต่างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีหลากหลายและมีความต้องการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2567 อย่างต่อเนื่องเกิดการสร้างรายได้ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและเกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่บนพื้นฐานบริบทด้านการท่องเที่ยวของประเทศ
โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญกับการท่องเที่ยวของประเทศ จึงได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561- 2580) มีวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก ที่เติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานความเป็นไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับโลก
การที่จะบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายดังกล่าวนั้น วิธีการที่ทั่วโลกให้การยอมรับและเชื่อถือนั่นก็คือ การตรวจประเมินและรับรองคุณภาพมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวเกิดการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพพื้นที่ท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ในฐานะหน่วยรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยและกรมการท่องเที่ยว ได้ร่วมกันยกระดับแหล่งท่องเที่ยวประเภทชายหาดสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานที่สอดคล้องตามมาตรฐาน ISO เพื่อการท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
โดยได้ดำเนินการตรวจประเมินและรับรองตามมาตรฐาน ISO 13009: 2015 Tourism and related services — Requirements and recommendations for beach operationซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานด้านการจัดการชายหาดเพื่อการท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ที่มีหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมายหรือผู้ประกอบการเอกชนซึ่งมีพื้นที่ติดแนวชายหาดสาธารณะ
ทั้งนี้มาตรฐานดังกล่าว มุ่งเน้นการดำเนินงานด้านการบริการ ด้านความปลอดภัยความถูกสุขลักษณะสำหรับนักท่องเที่ยวและเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมาตรฐานฉบับนี้ยังมีส่วนช่วยให้องค์กรที่ผ่านการรับรองเกิดการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามเป้าหมายที่ 8, 11, 14 และ 15ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ช่วยให้การท่องเที่ยวประเภทชายหาดเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ปัจจุบัน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ สามารถให้บริการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน ISO 13009:2015 สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่ชายหาดหรือผู้ประกอบการเอกชนที่มีพื้นที่บริการติดกับแนวชายหาดสาธารณะ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นสำหรับนักท่องเที่ยวและสร้างความน่าเชื่อถือในการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชายหาดสาธารณะ
ผลการดำเนินงานในปี 2567 มีแหล่งท่องเที่ยวประเภทชายหาดจำนวน 11 ชายหาด ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 13009:2015 เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ได้แก่
1.หาดพัทยา เมืองพัทยา
2.หาดน้ำใส หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ
3.หาดบิเละ (เกาะห้อง) อุทยานแห่งชาติแห่งชาติธารโบกขรณี
4.อ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
5.หาดป่าตอง เทศบาลเมืองป่าตอง
6.หาดเล็ก อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
7.หาดท้ายเหมือง (พื้นที่ลานพลับพลึงและปาง) อุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง-เขาลําปี
8.หาดเกาะสี่ อุทยานแห่งชาติสิมิลัน
9.หาดไม้งาม อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
10.หาดเกาะละวะใหญ่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
11.พื้นที่บริการนักท่องเที่ยวหลังแนวชายหาดสาธารณะโรงแรมลองบีช การ์เด้นโฮเต็ล แอนด์ สปา พัทยา
จากการดำเนินงานของ สำนักรับรองระบบคุณภาพ วว.ที่กล่าวมาข้างต้นนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถยกระดับด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายหาดซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมระดับโลก สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมให้กับคนในท้องถิ่น พร้อมๆกับการส่งเสริมประสบการณ์ที่มีคุณค่ากับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอย่างเป็นรูปธรรม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจากสำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) วว. ติดต่อได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 ต่อ 9373(คุณธนกร สุขกลับ, คุณเอก เอื้อตระการวิวัฒน์) E-mail thanakorn_s@tistr.or.th และ ake_e@tistr.or.th หรือที่ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”