In Bangkok

กทม.ชูหลักเกณฑ์-เงื่อนไขทำการค้าปี67 พระนครสลายแผงค้าริมถนนพระสุเมรุ 



กรุงเทพฯ-พลิกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ย้ำดุสิตตรึงแผงค้าหน้าวัดธรรมาภิรตาราม ส่องพระนครสลายแผงค้าริมถนนพระสุเมรุ 

(3 พ.ค. 68) เวลา 07.15 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณหน้าวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) เขตดุสิต และบริเวณถนนพระสุเมรุ (แยกสิบสามห้าง-แยกบางลำพู) เขตพระนคร โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายเทียนชัย วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการเขตดุสิต นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ เขตดุสิต เขตพระนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า ในช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณหน้าวัดธรรมาภิรตารามหรือวัดสะพานสูง ซึ่งการเลือกลงพื้นที่ในช่วงเวลาเช้านั้น จะทำให้เห็นสภาพของพื้นที่ทำการค้าที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากบางจุดผู้ค้าจะตั้งวางแผงค้าในช่วงเวลาเช้ามืด พอช่วงสายตลาดก็วายแล้ว อย่างเช่นหน้าวัดธรรมาภิรตารามหรือวัดสะพานสูง มีผู้ค้า 59 ราย ผู้ค้าจะทำการค้าในช่วงเวลา 04.00-09.00 น. สำหรับการลงพื้นที่ในจุดนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าต่อเนื่องจากวันที่ 19 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา ในการปรับปรุงแก้ไขตามที่มีการพูดคุยกับตัวแทนผู้ค้าถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในบริเวณดังกล่าว หลังจากให้ระยะเวลาผู้ค้า 2 สัปดาห์ ผู้ค้าส่วนใหญ่จะขายอาหารสด อาหารทะเล ผักสดและผลไม้ตามฤดูกาล รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน พื้นที่ทางเท้าจะเปียกน้ำอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดความสกปรกเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ส่งผลให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล การตั้งวางแผงค้าจะตั้งติดเรียงชิดกัน ไม่มีช่องว่างสำหรับให้ประชาชนเดินเข้าออก 

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า จากการเดินตรวจความเรียบร้อยและพูดคุยกับผู้ค้าในวันนี้ พบว่ายังมีแผงค้าขายพวงมาลัย ดอกไม้สด ตั้งวางแผงค้าอยู่ติดกับทางม้าลาย แผงค้าขายอาหารทะเล มีน้ำแข็งจากการแช่อาหารไหลลงบนพื้นทางเท้า โดยให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางปรับปรุง ย้ายแผงค้าที่อยู่ตรงทางม้าลายไปอยู่ในจุดที่มีแผงค้าว่างอยู่ หรือปรับลดขนาดของแผงค้าให้เล็กลง กำชับผู้ค้าอาหารทะเลให้จัดหาภาชนะมารองรับน้ำที่ไหลลงพื้นทางเท้า และล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามผู้ค้าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของเขตฯ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 67 โดยร่วมกันปรับปรุงภูมิทัศน์ทำความสะอาด นำผ้าใบที่ติดอยู่ริมแนวรั้วเหล็กซึ่งมีสภาพเก่าและขาดออกจากแนวรั้ว โดยเปลี่ยนเป็นตาข่ายกรองแสงสีเขียวแทน พร้อมทั้งปรับขนาดของแผงค้าให้มีขนาดเล็กลง ขีดสีตีเส้นกำหนดแนวขอบเขตและเลขที่แผงค้าให้ชัดเจน ผู้ค้ามีพื้นที่ว่างสำหรับยืนขายสินค้า ไม่ออกไปยืนบนพื้นที่ทางเท้าที่ประชาชนเดินทางสัญจร หรือนอกแนวรั้วบนพื้นผิวจราจร ส่วนร้านค้าที่อยู่ในอาคารให้ความร่วมมือ ไม่ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า เมื่อตั้งวางแผงค้าด้านนอกอาคารแล้ว จะต้องเหลือพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชนเดินสวนกันได้สะดวก 

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดต่อมาเป็นการติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณถนนพระสุเมรุ ตั้งแต่แยกสิบสามห้าง ถึงแยกบางลำพู เขตพระนคร มีผู้ค้า 7 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นรถเข็นจอดขายอาหาร มีการตั้งโต๊ะและเก้าอี้บนพื้นทางเท้า ซึ่งเป็นจุดที่เขตพระนครได้พิจารณายกเลิกพื้นที่ทำการค้า โดยวันที่ 16 ม.ค. 68 เขตฯ ได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับผู้ค้า ต่อมาวันที่ 20 ม.ค. 68 ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมชี้แจงให้ทราบถึงความสำคัญในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า พร้อมทั้งให้ระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้ผู้ค้าได้หาพื้นที่ทำการค้าใหม่ โดยได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา หลังจากนี้ให้เขตฯ สำรวจตรวจสอบพื้นทางเท้าที่ชำรุดเสียหาย ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้เรียบร้อย รื้อย้ายฐานแท่นปูนตู้ควบคุมระบบสัญญาณสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งาน ที่ตั้งกีดขวางทางสัญจรออกจากพื้นทางเท้า ในขณะเดียวกันการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้านั้น จะเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว เพื่อให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด หากพื้นที่ทำการค้าใดผ่านเกณฑ์ จะยกระดับเป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน ผู้ค้ามีพื้นที่ในการประกอบอาชีพมีรายได้ ประชาชนใช้ทางเท้าในการเดินทางสัญจรได้สะดวกและปลอดภัย สุดท้ายแล้วผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางเท้าร่วมกัน

สำหรับเขตดุสิต มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 439 ราย ดังนี้ 1.หน้าตลาดศรีย่าน รวมผู้ค้า 113 ราย ตั้งแต่หน้าห้างเอดิสัน ถึงแยกศรีย่าน ถนนสามเสน ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. ผู้ค้า 32 ราย ตั้งแต่แยกศรีย่าน ถึงปากซอยศรีย่าน 1 ถนนนครไชยศรี ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ผู้ค้า 81 ราย 2.ตรงข้ามกรมชลประทาน ถนนสามเสน ผู้ค้า 44 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 3.ตรงข้ามตลาดศรีย่าน ถนนนครไชยศรี รวมผู้ค้า 91 ราย ฝั่งตรงข้ามตลาดศรีย่าน ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. ผู้ค้า 58 ราย ตั้งแต่แยกศรีย่าน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 401/5 ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-02.00 น. ผู้ค้า 32 ราย 4.หน้าตลาดราชวัตร รวมผู้ค้า 133 ราย ตั้งแต่หน้ากรมสรรพสามิต ถึงหน้าบ้านเลขที่ 1376 ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ผู้ค้า 105 ราย ตั้งแต่หน้าบ้านเลขที่ 757 ถึงปากซอยมิตรอนันต์ ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. ผู้ค้า 28 ราย 5.ข้างวัดสะพานสูง ถนนพระรามที่ 6 ผู้ค้า 58 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 24.00-06.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 627 ราย ดังนี้ 1.ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ค้า 180 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 2.หน้าตลาดเทวราช รวมผู้ค้า 92 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. แบ่งออกเป็น ฝั่งถนนพิษณุโลก ผู้ค้า 23 ราย ฝั่งถนนสามเสน ผู้ค้า 43 ราย ฝั่งถนนลูกหลวง ผู้ค้า 26 ราย 3.ถนนสังคโลก ผู้ค้า 78 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 4.หน้าวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) ถนนพระรามที่ 6 ถึงทางเข้ากรมช่างอากาศบำรุง ผู้ค้า 59 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-09.00 น. 5.ถนนคลองลำปัก ตั้งแต่ปากซอยคลองลำปักถึงต้นโพธิ์ ผู้ค้า 218 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 02.00-08.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าหน้า 1 จุด คือวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ถนนทหาร ผู้ค้า 12 ราย ต่อมาในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด คือจุดประชาวิวัฒน์ ปากซอยระนอง 1-2 ถนนพระรามที่ 5 ผู้ค้า 14 ราย นอกจากนี้ เขตฯ ยังมีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด คือหน้าตลาดเทวราช ผู้ค้า 92 ราย 

ส่วนเขตพระนคร มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 972 ราย ดังนี้ 1.ซอยแพร่งนรา ผู้ค้า 16 ราย 2.ถนนอัษฎางค์ ผู้ค้า 43 ราย 3.ถนนสามเสน ผู้ค้า 13 ราย 4.ถนนไกรสีห์ ผู้ค้า 224 ราย 5.ถนนตานี ผู้ค้า 228 ราย 6.ถนนพาหุรัด ผู้ค้า 270 ราย 7.ถนนข้าวสาร ผู้ค้า 178 ราย โดยในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 9 จุด รวมผู้ค้า 150 ราย ได้แก่ 1.ถนนอัษฎางค์ ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ก.พ. 67 2.ซอยดำเนินกลางเหนือ ผู้ค้า 8 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ก.พ. 67 3.ถนนราชดำเนินกลาง (ข้างกองสลากเก่า) ผู้ค้า 7 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ก.พ. 67 4.ถนนพระสุเมรุ (ซอยกสิกรไทย) ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกเดือน เม.ย. 67 5.ถนนดินสอ (หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา) ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกเดือน เม.ย. 67 6.ท่าพระจันทร์ (บนลานท่าพระจันทร์) ผู้ค้า 22 ราย ยกเลิกเดือน เม.ย. 67 โดยยุบรวมกับถนนมหาราชบางส่วน 7.ถนนมหาราช ผู้ค้า 50 ราย ยกเลิกเดือน เม.ย. 67 8.ท่าเตียน ผู้ค้า 24 ราย ยกเลิกวันที่ 21 เม.ย. 67 และ 9.ข้างศูนย์เบนซ์ ผู้ค้า 11 ราย ยกเลิกเดือน ก.พ. 67 โดยยุบรวมกับผู้ค้าบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นอกจากนี้ เขตฯ ได้ยุบรวมจุดทำการค้าบริเวณถนนจักเพชร-พาหุรัด-ตรีเพชร ผู้ค้า 222 ราย รวมกับถนนพาหุรัด ฝั่งไชน่าเวิลด์ ผู้ค้า 48 ราย โดยรวมเป็น 1 จุด ชื่อถนนพาหุรัด ผู้ค้า 270 ราย เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 67 ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 17 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 947 ราย ดังนี้ 1.ซอยท่ากลาง ผู้ค้า 35 ราย 2.ซอยทิพย์วารี ผู้ค้า 61 ราย 3.ซอยจินดามณี ผู้ค้า 36 ราย 4.ถนนจักรพงษ์ ผู้ค้า 30 ราย 5.ซอยรามบุตรี ผู้ค้า 46 ราย 6.ถนนรามบุตรี ผู้ค้า 11 ราย 7.ถนนสามเสน ผู้ค้า 96 ราย 8.ถนนสิบสามห้าง (กลางคืน) ผู้ค้า 50 ราย 9.ถนนรามบุตรี ฝั่งโรงแรมไอบิท (กลางคืน) ผู้ค้า 26 ราย 10.ถนนรามบุตรี ผู้ค้า 51 ราย 11.ท่าพระจันทร์ ผู้ค้า 22 ราย 12.ถนนเฟื่องนคร (ถนนบุญศิริ ถนนตรีทอง ถนนตะนาว) ผู้ค้า 44 ราย 13.อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ผู้ค้า 99 ราย 14.ตลาดตรอกหม้อ ซอยเทศา ถนนราชบพิธ ผู้ค้า 219 ราย 15.ปากคลองตลาด (กลางคืน) ผู้ค้า 50 ราย 16.ท่าพระจันทร์ ถนนมหาราช (กลางคืน) ผู้ค้า 44 ราย 17.ถนนราชินี (กลางคืน) ผู้ค้า 27 ราย ซึ่งในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้า 77 ราย ได้แก่ 1.ถนนบ้านหม้อ ผู้ค้า 10 ราย 2.ถนนจักรเพชร ผู้ค้า 6 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ม.ค. 68 3.ถนนมหาไชย ผู้ค้า 18 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มี.ค. 68 4.ริมคลองหลอด ถนนราชินี ผู้ค้า 11 ราย ยกเลิกวันที่ 10 มี.ค. 68 5.ถนนจักรพงษ์ ผู้ค้าบางส่วน 25 ราย (คงเหลือ 30 ราย) 6.ถนนพระสุเมรุ (แยกสิบสามห้าง-แยกบางลำพู) ผู้ค้า 7 ราย ยกเลิกวันที่ 1 พ.ค. 68 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณริมคลองบางลำพู ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. รวมถึงจัดทำ Hawker Center บริเวณข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ริมคลองหลอดวัดราชนัดดา ผู้ค้า 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-14.00 น.