In Bangkok
กทม.แจงคัดเลือกซ่อมรถดับเพลิง18คัน ทำตามหลักเกณฑ์โปร่งใสและรอบคอบ

กรุงเทพฯ-นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาแบบคัดเลือก จ้างเหมาซ่อมรถดับเพลิงพร้อมบันไดสูงไม่น้อยกว่า 13 เมตร ยี่ห้อสไตเออร์ จำนวน 18 คัน พบความผิดปกติที่ส่อไปในทางทุจริตว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากบริษัท เทพยนต์ แอโรโมทีฟ อินดัสตรีส์ จำกัด ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีประกวดราคาแบบคัดเลือก กรณีจ้างเหมาซ่อมรถดับเพลิงพร้อมบันไดสูงไม่น้อยกว่า 13 เมตร ยี่ห้อสไตเออร์ จำนวน 18 คัน ซึ่งในการประกวดราคาดังกล่าว สปภ. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนโดยมีหนังสือเชิญผู้มีอาชีพจ้างดังกล่าวรวม 8 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ช.ไพศาล จำกัด บริษัท ลัคกี้ โปรเกรส ซัพพลาย จำกัด บริษัท ฐิติ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด บริษัท ดิแอมูนิสทส์ จำกัด บริษัท เอส-ซิส คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เบสท์ เซ็นเตอร์ พาร์ท จำกัด บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพร์ส (สยาม) จำกัด และบริษัท ชัยเสรี รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด เมื่อวันที่ 11 พ.ย.67 ให้สำรวจและยื่นข้อเสนอเพื่อประมาณรายการความชำรุดของรถดับเพลิงทั้ง 18 คัน โดยกำหนดให้ยื่นรายละเอียดภายในวันที่ 15 พ.ย. 67 และมีบริษัทที่ยื่นข้อเสนอรายการความชำรุด 4 บริษัท คือ บริษัท ชัยเสรี รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด บริษัท ลัคกี้ โปรเกรส ซัพพลาย จำกัด บริษัท ช.ไพศาล จำกัด และบริษัท เอส-ซิส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งไม่ปรากฏชื่อบริษัท เทพยนต์ แอโรโมทีฟ อินดัสตรีส์ จำกัด แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ภายหลังได้รับข้อเสนอจากทั้ง 4 บริษัท คณะกรรมการกำหนดขอบเขตของงานได้รับฟังแนวทาง การนำเสนอการซ่อมรถดับเพลิงฯ ของแต่ละบริษัท พร้อมซักถามประเด็นข้อสงสัย เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่ถูกต้องครบถ้วน โดยนำรายการความชำรุดทั้งหมดที่บริษัทที่ยื่นเสนอมารวบรวมและกำหนดเป็นรายการซ่อมรถดับเพลิงดังกล่าว เนื่องจากทั้ง 4 บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการซ่อมรถดับเพลิง รวมถึงพิจารณากำหนดรายการที่อาจจะเพิ่มขึ้นของแต่ละรายการเมื่อเข้าสู่กระบวนการซ่อมแซม จึงกำหนดข้อความในความชำรุดต่อเนื่องไว้และส่งร่างรายการซ่อมทั้งหมดให้ทั้ง 4 บริษัท ยื่นเสนอราคาเพื่อจัดทำราคากลาง ซึ่งทุกบริษัทได้เสนอราคากลางทุกรายการอย่างครบถ้วน รวมถึงรายการความชำรุดต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการฯ มีหลักการพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม และถูกต้อง เพื่อให้รถดับเพลิงดังกล่าวมีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานทุกระบบในการช่วยเหลือประชาชนภายหลังการซ่อม
จากนั้นคณะกรรมการฯ ได้เข้าสู่กระบวนการจัดทำราคากลาง ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 4 (4) ราคาที่ได้มาจากการสืบราคาท้องตลาด และ (5) ราคาที่เคยซื้อ หรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ พร้อมมีหนังสือเชิญชวนทั้ง 4 บริษัท เฉพาะผู้ยื่นเสนอที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 ราย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 74 (1) เมื่อวันที่ 27 มี.ค.68 และกำหนดยื่นซองวันที่ 1 เม.ย.68 ระยะเวลา 5 วัน (3 วันทำการ) ซึ่งวิธีการคัดเลือกตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2560 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการให้ผู้ยื่นข้อเสนอเตรียมเอกสารเพื่อยื่นข้อเสนอ คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง มาตรการการใช้จ่ายเงินงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ข้อ 2.1 ที่กำหนดให้เผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ซึ่งปรากฏว่า มีผู้ยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย คือ บริษัท ชัยเสรี รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด และบริษัท ลัคกี้ โปรเกรส ซัพพลาย จำกัด โดยคณะกรรมการจ้างโดยวิธีคัดเลือกได้พิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 ราย พบว่า มีผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนด จำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอ
ส่วนข้อร้องเรียนที่ระบุมีการกำหนดรายการอะไหล่ซ้ำซ้อนแบบแยกส่วน เพื่อเพิ่มราคาและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุและทำให้บริษัทเอกชนมีช่องทางในการใส่ราคาเพิ่ม นั้น คณะกรรมการฯ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดรายการซ่อม หากแต่เป็นการรวบรวมจากรายการข้อเสนอของทั้ง 4 บริษัทผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเชิญ เข้ามากำหนดรายการซ่อม เพื่อความโปร่งใส รอบคอบ และรัดกุม นอกจากนี้ ตามหลักสากลการซ่อมเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ไม่สามารถซื้อชุดซ่อม หรือยกชุดในครั้งเดียวได้ เนื่องจากจะไม่ได้รายการอะไหล่ครบตามรายการที่กำหนด ขณะที่ประเด็นเอกสารรายละเอียดการซ่อมรถดับเพลิงแต่ละคันที่แนบกับร่างขอบเขตของงาน (TOR) ไม่มีการระบุรหัสชิ้นส่วน (Parts Number) ของอะไหล่แต่ละชิ้นและไม่กำหนดเลขรหัสอะไหล่แท้จากผู้ผลิต จึงอาจทำให้หาอะไหล่เทียมทั่วไปใส่แทนได้นั้น คณะกรรมการฯ ได้กำหนดช่อง “รหัสพัสดุ” สำหรับกรอกเลขรหัสไว้แล้ว
สำหรับกรณีที่ระบุมีการตั้งราคากลางสูงเกินความเป็นจริงมากกว่า 10 เท่า นั้น คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาราคาของทั้ง 4 บริษัทที่ยื่นเสนอ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 4 (4) ราคาที่สืบได้มาจากการสืบราคาท้องตลาด และ (5) ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครังสุดท้ายภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ ซึ่งราคาที่ได้มาจากการสืบราคาท้องตลาด คณะกรรมการฯ กำหนดราคารายการอะไหล่จากบริษัทที่เสนอ Parts Number ของอะไหล่เป็นลำดับที่ 1 และบริษัทที่เสนอแหล่งที่มาของอะไหล่ เช่น เยอรมัน อังกฤษ เป็นต้น เป็นลำดับที่ 2 ประกอบกับ (5) ราคาที่เคยซื้อ หรือจัดจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยึดหลักเกณฑ์และความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ บริษัท เทพยนต์ แอโรโมทีฟ อินดัสตรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนยังไม่ปรากฏชื่ออยู่ในกระบวนการเสนอราคาตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังมีประวัติทิ้งงานในระบบราชการตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0405.7/ว47 ลงวันที่ 19 มี.ค. 63 และเว็บไซต์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย. 68