In Thailand
แก้ภัยแล้ง!กรมชลฯตรวจโครงการผันน้ำ เขื่อนศรีนครินทร์ฯช่วยภัยแล้ง3อำเภอ

กาญจนบุรี-แก้ภัยแล้งซ้ำซาก !! กรมชลประทาน จัด กิจกรรมตรวจติดตามโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ฯ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งใน 3 อำเภอที่จังหวักาญจนบุรี เพิ่อเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน 414,000 ไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมอาคาร 50 ปี เขื่อนแม่กลอง สำนักชลประทานที่ 13 ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี นายพิเชษฐ รัตนปราสารทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เป็นประธานตรวจติดตามโครงการ งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี
โดยมีนายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวต้อนรับคณะสื่อมวลชน มีนายสุพัฒน์ ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 13 นายประศาสน์ สุขอินทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาญจนบุรี นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กลอง นายสันติศักดิ์ ศรีวารินทร์ ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน นายสรณคมน์ ช่างวิทยาการ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 13 รวมถึงผู้บริหารกรมชลประทานคณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังการบรรยายภาพรวมและความก้าวหน้าของโครงการ ส่วนบริษัท กิจการร่วมค้า PFWFT JV ได้กล่าวสรุปถึงความก้าวหน้าการสำรวจ ออกแบบโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี
นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม กล่าวว่า กรมชลประทานได้เริ่มโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี มีลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำและระบบส่งน้ำ เพื่อผันน้ำจาก อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งของอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี โดยองค์ประกอบของโครงการนั้น ตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ระยะเวลาดำเนินงานสำรวจและออกแบบรวม 720 วัน เริ่มตั้งแต่ 16 กันยายน 2566 สิ้นสุด 4 กันยายน 2568 เนื่องจากพื้นที่ในอำเภอดังกล่าวฯ เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากของจังหวัดกาญจนบุรี ประชาชนประสบกับปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำมาอย่างยาวนาน จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งสูง
จนถูกขนานนามว่า “อีสานแห่งกาญจนบุรี” และจากข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ จึงไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้ ถึงแม้จะมีการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำภายในพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายทดน้ำในลำน้ำ รวมถึงสระเก็บน้ำในไร่นา แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่อับฝนจึงมีปริมาณฝนตกน้อยมาก ทำให้ไม่มีน้ำไปเติมยังแหล่งเก็บกักน้ำที่ได้พัฒนาไว้ และบางพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติทำให้ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ
ดังนั้น การศึกษาโครงการครั้งนี้ จึงมีแนวคิดและแนวทางในการออกแบบของโครงการฯ ให้มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ และบริเวณใกล้เคียงตามนโยบายของรัฐบาล ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานของประชาชน
โดยการส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอาชีพเกษตรกรรมที่มั่นคง รวมทั้งสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชนและหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง ที่ผ่านมา โครงการได้จัดการประชุมรับฟัง
ความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว 3 ครั้ง รวม 17 เวที ได้แก่ การประชุมปฐมนิเทศโครงการ การประชุม
กลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 และการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายทุกองค์ประกอบของโครงการ เพื่อนำเสนอข้อมูลและรายละเอียดในการออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ ของโครงการให้กับ
ผู้ได้รับผลกระทบและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนผู้สนใจได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน โดยมีองค์ประกอบโครงการดังนี้
1.ระบบอุโมงค์และอาคารประกอบ : อุโมงค์ผันน้ำขนาด Ø 4.20 ม. ความยาวประมาณ 20.521 กม. จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู ที่มีความจุประมาณ 1.77 ล้าน ลบ.ม.ด้วยอัตราการผันน้ำ 12.00 ลบ.ม./วินาที
2.ท่อส่งน้ำ MP2-บ่อพักน้ำหลุมรัง ประกอบด้วย
- ท่อส่งน้ำ MP2 ส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซู ไปยังบ่อพักน้ำหลุมรัง เป็นท่อเหล็กเหนียว ขนาด Ø 2.50 ม. ความยาว 11.42 กิโลเมตร อัตราการผันน้ำ 12.00 ลบ.ม./วินาที
- บ่อพักน้ำหลุมรัง ขนาดพื้นที่ 778 ไร่ ความลึกน้ำ 13.00 ม. ความจุที่ระดับเก็บกัก 4.23 ล้าน ลบ.ม. (+124.00 ม.ร.ท.ก.)
3.ระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ : ท่อส่งน้ำสายหลัก MPL ส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรัง ไปยังคลองส่งน้ำสายหลัก (MC) เป็นท่อเหล็กเหนียวขนาด Ø 2.00 ม. จำนวน 2 แถว ความยาว 6.705 กม. อัตราการผันน้ำ 10.00 ลบ.ม./วินาที เชื่อมต่อด้วยคลองส่งน้ำสายหลัก (MC) ความยาวรวม 90.80 กม.ช่วงกม.0+000 ถึง กม.90+800 เป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ความกว้างท้องคลอง 3.00 ม.ความลึก 2.30 ม. ลาดด้านข้าง 1:1.5 อัตราการส่งน้ำ 10.00 ลบ.ม./วินาที เขตคลองประมาณ 40.00-50.00 ม. ไปยังพื้นที่รับประโยชน์ฝั่งซ้ายของคลองลำตะเพิน และพื้นที่ต้นน้ำสาขาของแม่น้ำท่าจีน โดยมีท่อส่งน้ำสายซอย และท่อส่งน้ำสายแยกซอยรวม 72 สาย ความยาวรวม 467.18 กม. ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 414,000 ไร่
ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
นายพิเชษฐ กล่าวว่า การสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี นั้น จะทำให้พื้นที่เกษตร จำนวน 414,000 ไร่ ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี มีน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกตลอดปี ปฏิทิน และในฤดูแล้งจะมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคอีกด้วย
ญาณภัทร์ ศิลปะขจร/กาญจนบุรี