EDU Research & Innovation
วว.จับมือมรภ.ราชนครินทร์/กำแพงเพชร มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

กรุงเทพฯ-ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และ ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ ยอดวิญญูวงศ์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ว่าด้วยการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการในการขับเคลื่อน วทน. ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio – based economy) โดยการเพิ่มมูลค่าและตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนลดต้นทุนในการใช้พลังงานทดแทนร่วมกับการผลิตไบโอดีเซลชุมชนจากน้ำมันพืชใช้แล้ว โดยการใช้ความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพให้กับบุคลากร นิสิต/นักศึกษา และประชาชน ตลอดจนชุมชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
ในการนี้ อาจารย์สุรีย์พร ธรรมมิกพงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.ราชนครินทร์ ผศ.จารุกิตต์ พิบูลนฤดม รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผนเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.กำแพงเพชร นายเฉลิมชัย จีระพันธ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) ดร.ชนากานต์ เพิ่มฉลาด นักวิจัยอาวุโส ศนพ. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ พร้อมด้วยนักวิจัย และบุคลากรของทั้งสามหน่วยงาน ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องประชุม กวท. ชั้น 8 อาคาร RD 1 วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเน้นการลดปริมาณของเหลือทิ้ง โดยการนำกลับมาใช้ใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพ การยกระดับคุณภาพเหล่านี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการพัฒนาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดย วว. มีองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมนำไปต่อยอดส่งเสริมทักษะองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและกำแพงเพชร รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับชุมชนอย่างยั่งยืน
“ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ วว. และพันธมิตร มุ่งดำเนินงานภายใต้กรอบความสำคัญของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชุมชน โดยการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีด้านการผลิตไบโอดีเซลชุมชนของ วว. ไปต่อยอดน้ำมันพืชใช้แล้ว ซึ่งเป็นวัตถุดิบเหลือทิ้งในครัวเรือน ที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์สูบเดียว เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร หรือเรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมันพืชใช้แล้ว และเป็นการลดต้นทุนด้านพลังงานให้ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวสรุป
รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดี มรภ.ราชนครินทร์ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะตอบโจทย์นโยบายของประเทศในการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้มหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มทักษะความสามารถในการยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสังคม พร้อมทั้งขยายผลในระดับสถาบันการศึกษาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ ยอดวิญญูวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยรู้สึกยินดีอย่างยิ่ง ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขยายผลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนสามารถลดต้นทุนโดยใช้พลังงานทดแทนด้วยการผลิตไบโอดีเซลชุมชนจากน้ำมันพืชใช้แล้วจากเครื่องผลิตไบโอดีเซลชุมชน พร้อมทั้งผลักดันให้ นิสิต/นักศึกษา ได้นำประโยชน์จากผลงานวิจัยมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในอนาคต
สำหรับบันทึกข้อตกลงความมือร่วมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือเชิงบูรณาการของทั้งสามฝ่ายในการสนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสังคมสู่ความยั่งยืน มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ
2. การนำองค์ความรู้ด้าน วทน. ไปใช้เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง และตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3. การเสริมสร้างศักยภาพ องค์ความรู้ และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่บุคลากร นิสิต/นักศึกษา ร่วมกันผลักดันผลงานวิจัย และงานบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนลดต้นทุนโดยใช้พลังงานทดแทนด้วยการผลิตไบโอดีเซลชุมชนจากน้ำมันพืชใช้แล้วจากเครื่องผลิตไบโอดีเซลชุมชนร่วมกับเครื่องผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับชุมชนที่รับการถ่ายทอดองค์ความรู้
4. เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน ชุมชน จังหวัด ได้รับความรู้ด้านการจัดทำบัญชีการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการผลิตไบโอดีเซลชุมชนด้วยน้ำมันพืชใช้แล้ว โดยใช้ความร้อนจากน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์