EDU Research & Innovation

อว.ผนึกพลังวว.และวช.ปลูกป่า5,000ต้น เฉลิมพระเกี่ยรติที่สถานีวิจัยสะแกราช



นครราชสีมา-กระทรวง อว. โดย วว./วช. ผนึกพลังพันธมิตรปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 5,000 ต้นโดยใช้กล้าไม้ผสมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ชุมชนยั่งยืน ณ พื้นที่ป่าสาธารณะประโยชน์ แหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราช

นางสาวสุดาวรรณ   หวังศุภกิจโกศล   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  เป็นประธานเปิดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พื้นที่ป่าสาธารณะประโยชน์ บ้านหนองนกเขียน หมู่ที่ 10  ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ต.ภูหลวง  อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา  โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ กรรมการมูลนิธิผืนป่าในใจเรา กล่าวรายงาน ศ.ดร.ศุภชัย  ปทุมนากูล ปลัดกระทรวง อว. ในฐานะประธานคณะกรรมการ วว. กล่าวภารกิจกระทรวง อว. ด้านการดูแลรักษาป่าไม้ โอกาสนี้ คณะกรรมการ วว. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผศ.ดร.วีรชัย  อาจหาญ  ผู้ว่าการ  วว.  คณะผู้บริหาร  บุคลากร  ประชาชน และหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน  เข้าร่วมกิจกรรม  ในวันที่ 20  กรกฎาคม 2568 

โดยการปลูกป่าใช้กล้าไม้ผสมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาซึ่งเกาะอยู่ที่รากกล้าไม้  เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตขึ้นจะมีเห็ดกินได้เจริญเติบโตออกมาจากรากกล้าไม้ ได้แก่ เห็ดตะไคล  เห็ดระโงก และเห็ดตับเต่า ซึ่งเป็นองค์ความรู้จากผลงานวิจัยที่ วว. ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก วช. และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้มายังหน่วยงานต่าง ๆ  ในพื้นที่ เช่น สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ศูนย์เพาะชำกล้าไม้นครราชสีมา และศูนย์วนวัฒนวิจัยที่ 6 กรมป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมูลนิธิผืนป่าในใจเรา นับเป็นตัวอย่างการบูรณาการนำผลการวิจัยต่อยอดให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยผ่านการอบรมการผลิตกล้าไม้และเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในระดับชุมชนกว่า 70 ราย และขยายผลสู่กิจกรรมปลูกป่าในครั้งนี้ด้วยกล้าไม้ฯ จำนวน 5,000 ต้น

ถือเป็นการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปสู่การใช้จริงที่่สามารถผลิตได้ด้วยอุปกรณ์ในครัวเรือน และเกิดประโยชน์ทั้งด้านอาชีพ รายได้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการฟื้นฟูระบบนิเวศ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัย ไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นภาพสะท้อนการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular Green Economy) ที่กระทรวง อว. ให้ความสำคัญ โดยนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมกับอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้ รมว.อว. ได้มอบเครื่องหมักปุ๋ยและงานวิจัยจากการสนับสนุนโดย วช. ให้กับผู้แทนชุมชนและเกษตรกร รวมทั้งเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของบุคลากร วว. ด้วย