In Bangkok
กทม.เดินหน้าจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ลุยประเมินแผงขายอาหารริมบาทวิถี

กรุงเทพฯ-สำนักเทศกิจ กทม.เดินหน้าจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย พร้อมตรวจประเมินมาตรฐานแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวกรณีนักวิชาการแนะส่งเสริมการค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักเทศกิจ ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ โดยยึดหลักความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์ของการค้าขายบนทางเท้ากับประโยชน์ในการใช้สอยที่จะเกิดกับสาธารณะ ได้แก่ ด้านพื้นที่ทำการค้า กำหนดให้ความกว้างของทางเท้า เมื่อจัดแผงค้าแล้ว ต้องมีพื้นที่ว่างให้ประชาชนสัญจรไม่น้อยกว่า 2 เมตร ไม่อยู่ในรัศมี 150 เมตร จากสถานที่สำคัญ และต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สำหรับการจัดวางแผงค้า ต้องเว้นระยะห่าง 5 เมตร ทุกระยะ 10 แผงค้า เพื่อเป็นทางเข้าออกและทางฉุกเฉิน และห้ามจัดผังแผงค้าบริเวณสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ช่องทางเข้าออกอาคารที่ประชาชนใช้สอย ทางข้ามถนนที่มีทางม้าลาย ห้องสุขาสาธารณะ จุดจ่ายน้ำดับเพลิง ส่วนการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำการค้า จะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยและคัดเลือกผู้ทำการค้า โดยเปิดรับลงทะเบียน ตรวจสอบคุณสมบัติ หากแผงค้ามีจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ลงทะเบียน ให้จับสลากและดำเนินการโดยวิธีเปิดเผย กำหนดเงื่อนไขการทำการค้า โดยอนุโลมให้ทำการค้าได้คราวละ 1 ปี เมื่อครบระยะเวลาแล้วให้คัดเลือกใหม่ เพื่อป้องกันการยึดติดพื้นที่และสร้างความเป็นธรรม นอกจากนั้น ยังได้กำหนดข้อปฏิบัติของผู้ค้าให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการจำหน่ายสินค้าที่ กทม.กำหนด และข้อปฏิบัติอื่น ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองไม่ให้กระทบสิทธิผู้บริโภคและผู้ใช้ทางเท้าอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการ
สำหรับการกำหนดมาตรการควบคุมและบทลงโทษผู้ค้า ได้กำหนดให้ผู้ค้าควบคุมกันเองและรับผิดชอบร่วมกัน โดยให้แต่ละจุดตั้งผู้แทนขึ้นมาดูแลกัน หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการทำการค้า จะต้องถูกลงโทษให้หยุดทำการค้า หากยังฝ่าฝืนอีกจะถูกพิจารณาลงโทษสถานหนัก คือ เพิกถอนจุดทำการค้านั้น ทั้งนี้ กทม.ได้เสนอจุดทำการค้าที่เหมาะสมและผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน จำนวน 95 จุด ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลพิจารณาให้ความเห็นชอบในฐานะเจ้าพนักงานจราจร ซึ่งขณะนี้ ได้รับความเห็นชอบแล้ว 86 จุด ผู้ค้าประมาณ 6,000 ราย และไม่ได้รับความเห็นชอบ 9 จุด อย่างไรก็ตาม จะพิจารณาทบทวนความจำเป็นเสนอกองบัญชาการตำรวจนครบาลพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนั้น ยังมีแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เช่น ให้สำนักงานเขตสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่จะกำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้าใหม่ โดยรวมถึงทางเท้าสาธารณะ ที่ว่างของหน่วยราชการอื่น เช่น กรมธนารักษ์ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย และที่ดินของเอกชน ซึ่งขณะนี้มี 8 สำนักงานเขต ได้เสนอพื้นที่ว่างสำหรับขอเป็นจุดทำการค้า สำนักเทศกิจนำจะเสนอคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของ กทม.พิจารณา ทั้งนี้ ผู้ค้า หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ สามารถแจ้งความประสงค์การกำหนดพื้นที่ทำการค้าขายในที่สาธารณะได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ โดยเมื่อสำนักงานเขตได้รับแจ้งความประสงค์แล้ว จะดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศ กทม. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะต่อไป
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักอนามัย ได้ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่ส่งเสริมให้สถานประกอบการอาหารพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. ประกอบด้วย ด้านสุขลักษณะทางกายภาพ อาคารสถานที่ (Place) ด้านคุณภาพอาหาร (Food) ด้านบุคลากร ผู้สัมผัสอาหาร (Food Handler) ต้องผ่านการอบรม หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองด้านการสุขาภิบาลอาหารทุกราย และด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Service) โดยผลดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 พบว่า มีแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีที่ได้รับใบอนุญาต 1,169 ราย ผ่านเกณฑ์มาตรฐานฯ ระดับดีและเกรด C 731 ราย คิดเป็นร้อยละ 62.53 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานฯ ระดับ Green Service 138 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.80
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจประเมิน ติดตาม กำกับมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. และมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีรวมอยู่ด้วย และในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้สุ่มตรวจตรวจประเมิน ติดตามกำกับมาตรฐานด้านการสุขาภิบาลอาหารของแผงลอยจำหน่ายอาหารในพื้นที่ทำการค้าตามประกาศ กทม. โดยสรุปผลดำเนินการตั้งแต่เดือน ธ.ค.64 - พ.ค.65 พบว่ามีแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ที่สุ่มตรวจ 169 ราย ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. 141 ราย และมีมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 จำนวน 169 ราย ทั้งนี้ สำนักอนามัยได้แจ้งผลการตรวจประเมินฯ ให้สำนักงานเขตทราบและดำเนินการติดตามกวดขันสถานประกอบการอาหารให้ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.อย่างต่อเนื่อง