Think In Truth

สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ'พักการลงโทษ' ตอนที่2 : เหตุใดต้องพักการลงโทษ?



จากที่กรมราชทัณฑ์ ได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพักการลงโทษในงานราชทัณฑ์ ตอนที่ 1 ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงหน้าที่และอำนาจตามกรอบของกฎหมายไปแล้ว นั้น สำหรับในตอนที่ 2 กรมราชทัณฑ์ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อชี้ให้สังคมได้เห็นถึงสาเหตุที่สำคัญของการพักการลงโทษในบริบทของสังคมไทย

การพักการลงโทษในงานราชทัณฑ์ได้ถูกนำมาเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองและถูกพูดถึงมา โดยตลอด แม้ว่าประเทศไทยจะได้นำการพักการลงโทษมาใช้ตั้งแต่เริ่มมีการตราพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อจูงใจให้ผู้ที่กระทำผิดได้กลับตัว ปรับทัศนคติ และพัฒนาพฤตินิสัยของตนให้กลับเป็นคนดี โดยได้รับโอกาสที่จะออกมาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวก่อนครบกำหนดโทษ ภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ ประกอบกับแนวความคิดในการลงโทษผู้กระทำผิดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้แค้นทดแทน        ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความเคลื่อนไหวของสังคม มาเป็นการให้ความสำคัญด้านการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเนื่องจากการควบคุมคนเพื่อแก้แค้นหรือตัดโอกาสการกระทำผิดนั้น อาจจะทำให้ผู้กระทำผิดประสบปัญหากับการอยู่ร่วมกับสังคมเมื่อพ้นโทษและถูกแยกตัวให้โดดเดี่ยว ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลับมากระทำผิดซ้ำได้ ดังนั้นกรมราชทัณฑ์จึงขอสรุปให้เห็นถึงเหตุผลสำคัญของการพักการลงโทษ ดังนี้

1. เป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้กระทำผิดในการประพฤติ ปฏิบัติตนอยู่ในกฎ ระเบียบของเรือนจำ มีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษามีความตั้งใจในการแก้ไข พัฒนาพฤตินิสัยของตนเอง และสามารถแสดงให้เห็นว่าสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้

2. เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้ออกมาอยู่ร่วมกับครอบครัวก่อนครบกำหนดโทษ รวมถึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้

3. เป็นเครื่องมือในการลดความแออัดของเรือนจำ เนื่องจากโทษทางอาญาของประเทศไทย     จะเน้นการจำคุก ทำให้จำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในความควบคุมของกรมราชทัณฑ์ มีจำนวนมาก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง และทำให้กระบวนการแก้ไข พัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

4. สำหรับในผู้กระทำผิดบางกลุ่มที่เจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป ถือว่ามีศักยภาพที่จะกระทำผิดซ้ำน้อย และไม่เป็นอันตรายต่อสังคม ดังนั้นเพื่อเป็นการสงเคราะห์ให้ได้รับการดูแลและได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมตามหลักมนุษยธรรม  รวมถึงให้โอกาสที่จะกลับไปใช้ชีวิตในบั้นปลายกับครอบครัว

กรมราชทัณฑ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้กลับมามีที่ยืนในสังคม เพื่อแก้ไขตัวเองให้กลับมาเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าและทำประโยชน์สำหรับผู้อื่นได้ต่อไป