Travel & Entertain

TBCSDร่วมกับTEIและBEDOได้จัดงาน TBCSD: Business for Biodiversity



กรุงเทพฯ-เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)หรือBEDO ได้จัดงาน TBCSD : Business for Biodiversity การสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรภาคธุรกิจไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึง บทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Business for Biodiversity)

โดยภายในงานได้รับเกียรติจากดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD)เป็นประธานกล่าวเปิดงาน กล่าวว่า “ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ และสนับสนุนภาครัฐในการขับเคลื่อนนโยบายด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ วาระแห่งชาติ BCG Economy Model  และการมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality และ Net Zero GHG Emission ในอนาคต ซึ่งหลายโครงการได้เกิดผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถผลักดันจนเกิดการขับเคลื่อนตอบสนองนโยบายของประเทศให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้ง การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ PM2.5 ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบหลากหลายรูปแบบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเด็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ วิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) นับเป็น 1 ใน 3 วิกฤตฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมของโลกควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะ ซึ่ง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) นับว่าเป็น “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” ที่มีความสำคัญอย่างมากและต้องได้รับการดูแล ฟื้นฟู อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนแต่เมื่อเราทราบว่าในอนาคตจะเกิดวิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นนั้น

องค์กรภาคธุรกิจไทยควรที่จะต้องเริ่มนำแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปผนวกอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมอันเป็นกุญแจสำคัญสู่ระบบนิเวศที่ยั่งยืน เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันในอนาคต ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึง การเข้าถึงกลไกการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ อีกด้วย”

และช่วงการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” ได้รับเกียรติจาก คุณสุวีร์ งานดี รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) มาร่วมนำเสนอข้อมูลสาระสำคัญของบทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากจะเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์แล้วนั้น ยังช่วยในเรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจ การควบคุมสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ปัจจุบัน ผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ถือเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทั่วโลกจึงมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework และมุ่งมั่นที่จะลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตั้งเป้าหมายให้เป็น Net Positive ภายในปี 2030 และตั้งเป้าหมายที่จะ Full Recovery ภายในปี 2050 ซึ่งแนวทางที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปสู่ Nature Positive ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ 1. Assess
2. Commit 3. Transform และ 4. Disclose หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ACT-D”

พร้อมทั้ง ช่วงเสวนา หัวข้อ “กลไกการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Finance for Biodiversity) ในประเทศไทย” ได้มีผู้แทนจากหน่วยงานระหว่างประเทศมาร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

คุณนิรันดร์ นิรันดร์นุต ผู้จัดการโครงการ BIOFIN, UNDP ประเทศไทย กล่าวว่า “BIOFIN ดำเนินงานตาม “แผนการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ” แก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและเงินทุนเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุตาม National Biodiversity Strategic and Action Plan (NBSAP) ซึ่งพบว่า กว่า 60 หน่วยงานในไทยที่มีภารกิจในการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพประสบปัญหาขาดงบประมาณ
ที่ต่อเนื่อง เกิด Finance gap คิดเป็น 35,000 ล้านบาท ผลลัพธ์ทางการเงินของ BIOFIN จะช่วยให้ไทยสามารถสร้างรายได้จากการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างถูกต้อง วางกรอบงบประมาณอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ฟื้นฟูในอนาคต และทำให้เกิดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล”

คุณพรฤทัย โชติวิจิตรBiodiversity and Business Engagement officer, IUCN ประเทศไทยกล่าวว่า “เครื่องมือการวิเคราะห์การดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพแบ่งได้เป็นหลายประเภทและหลายเครื่องมือซึ่งอาจสร้างความสับสนให้แก่บริษัทเอกชน ในฐานะผู้ใช้งาน ดังนั้น ผู้ใช้ต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานก่อนว่า เครื่องมือต่างๆ มีไว้เพื่อจัดการผลกระทบและความเสี่ยงจากสินค้าและบริการของบริษัทที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพและบริการระบบนิเวศตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแต่ละธุรกิจต้องเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับกิจการของตน ในการลงมือวิเคราะห์ บริษัทเอกชนพึงพิจารณาลักษณะและกิจกรรมทางธุรกิจ เพื่อเลือกใช้เครื่องมือ และจัดการความเสี่ยงหรือผลกระทบอย่างเป็นลำดับขั้น ได้แก่ การหลีกเลี่ยง(Avoid) ผลกระทบเป็นอันดับแรก แล้วจึงพิจารณา
การลด (Minimize) เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไปจนถึง การฟื้นฟู (Restoration&Rehabilitation)เมื่อได้ใช้ทรัพยากรนั้นไปแล้ว และ การชดเชย (Offset) ผลกระทบเชิงลบคงเหลือจากการที่ได้ใช้เครื่องมือในการจัดการแล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกใช้เครื่องมือไหน สำคัญว่าจะต้องเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การลงมือทำโดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ มีข้อมูลฐาน พิสูจน์ได้ ประเมินผลได้ต่อเนื่อง”

 และได้มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการWorkshopให้กับกลุ่มองค์กรสมาชิก TBCSD โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุจากการดำเนินงานของบริษัทที่ทำให้เกิดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรภาคธุรกิจไทย

ท้ายนี้ องค์กรภาคธุรกิจไทยควรที่จะต้องเริ่มนำแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไป  ผนวกอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมอันเป็นกุญแจสำคัญสู่ระบบนิเวศที่ยั่งยืน