In Bangkok

ตรวจฝุ่นจิ๋วไซต์แอสปายอิสรภาพสเตชั่น พัฒนาสวนนันทนาการบางกอกใหญ่



กรุงเทพฯ-บางกอกใหญ่ส่องฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างแอสปายอิสรภาพสเตชั่นถนนวังเดิม พัฒนาสวนนันทนาการบางกอกใหญ่ ชมคัดแยกขยะพี.ดี.อพาร์ทเม้นท์แนะแยกเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป

(26 ก.พ. 68) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ ประกอบด้วย 

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการแอสปายอิสรภาพสเตชั่น ถนนวังเดิม (Aspire Itsaraphap Station) ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ความสูง 5 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ความสูง 8 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ จัดทำรั้วทึบโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร ตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องพ่นละอองน้ำและเปิดตลอดเวลาการทำงาน ล้างทำความสะอาดพื้นทางเข้าออกโครงการไม่ให้มีเศษดินเศษทรายตกค้าง ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 พร้อมจอแสดงผลด้านหน้าโครงการให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

พัฒนาสวน 15 นาที สวนนันทนาการ ภายในศูนย์นันทนาการบางกอกใหญ่ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 2 ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 1 แห่ง คือ สวนบางกอกใหญ่ พื้นที่ 3,428 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนกลิ่นพิกุล พื้นที่ 1,600 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2.สวนอิสรภาพ พื้นที่ 28 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของวัดใหม่พิเรนทร์ 3.สวนรุ่งอรุณ พื้นที่ 184 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของวัดอรุณราชวราราม 4.สวนสยามบางกอกใหญ่ พื้นที่ 676 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักการโยธา 5.สวนริมคลองบางหลวง พื้นที่ 400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของที่ราชพัสดุ 6.สวนริมทางเท้าเพชรเกษม 18  พื้นที่ 30 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักการโยธา 7.สวนวัดดีดวด ซอยจรัญสนิทวงศ์ 12 พื้นที่ 400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของวัดดีดวด 8.สวนนันทนาการบางกอกใหญ่ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 2 พื้นที่ 282 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 9.สวนบางกอกใหญ่ภิรมย์ พื้นที่ 1,400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ตรวจสอบข้อมูลสวนให้ถูกต้อง แยกประเภทว่าเป็นสวนเดิมที่มีอยู่แล้วแต่พัฒนาให้ดีขึ้น หรือเป็นสวนที่จัดทำขึ้นใหม่ เพื่อลงในบัญชีสวนของสำนักสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้อง ปรับปรุงข้อมูลสวนให้ตรงกัน รวมถึงสำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสมเพื่อจัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติมให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท พี.ดี.แอนด์ ซัน จำกัด ถนนอิสรภาพ (พี.ดี.อพาร์ทเม้นท์) ซึ่งเป็นอพาร์ทเม้นท์ ความสูง 5 ชั้น จำนวน 60 ห้อง มีผู้พักอาศัยและพนักงาน รวมทั้งสิ้น 120 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารใส่ในถังที่กำหนด เขตฯ จัดเก็บ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล โดยแยกเป็นถังสำหรับใส่ขยะประเภทต่าง ๆ เช่น กล่อง กระดาษ ขวด แม่บ้านเก็บรวบรวมเพื่อนำไปขาย 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปใส่ถังแยกประเภท เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตรายใส่ถังแยกประเภท นัดหมายเขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 35 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่ 

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ ไม่มีพื้นที่ทำการค้าแล้ว เนื่องจากในแต่ละจุดทำการค้าจะมีผู้ค้าจำนวนน้อยราย ในปี 2567 ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 20 ราย ได้แก่ 1.บริเวณถนนอรุณอมรินทร์ ตั้งแต่หน้าวัดเครือวัลย์ ถึงแยกวังเดิม ผู้ค้า 4 ราย 2.บริเวณถนนอิสรภาพ ตั้งแต่ซอยอิสรภาพ 28 ถึงซอยอิสรภาพ 42/1 ผู้ค้า 3 ราย 3.บริเวณแยกพาณิชยการธนบุรี ตั้งแต่ปากซอยแยกพาณิชยการธนบุรี ถึงชุมชนริมคลองบางกอกใหญ่ ผู้ค้า 3 ราย 4.บริเวณถนนรัชดาภิเษก-ถนนจรัญสนิทวงศ์ ฝั่งขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่หน้าสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 17 และซอยจรัญสนิทวงศ์ 14 ผู้ค้า 6 ราย 5.บริเวณถนนเพชรเกษม ฝั่งขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่ซอยจำเนียรสุข 1 และซอยเชิงสะพานเนาวจำเนียร ถึงซอยเพชรเกษม 17/1 และซอยเพชรเกษม 18/1 ผู้ค้า 4 ราย 

ในการนี้มี นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกอกใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล